เมื่อเข้าสู่ “วัยทอง”
การเปลี่ยนผ่านช่วงวัยของผู้หญิง จากวัยเจริญพันธุ์ก้าวเข้าสู่ภาวะที่เรียกว่า วัยใกล้หมดประจำเดือน (perimenopause) ซึ่งหมายถึงช่วงเวลาที่เกิดอาการก่อนที่จะหมดประจำเดือนประมาณ 5 ปี จนกระทั่งเมื่อรังไข่หยุดทำงาน ไม่มีการผลิตไข่และฮอร์โมนเพศหญิงคือ เอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรนอย่างต่อเนื่องนาน 12 เดือนจึงเรียกได้ว่าเป็นวัยหมดประจำเดือนโดยธรรมชาติ หรือวัยทอง (menopause)อย่างสมบูรณ์ซึ่งอายุโดยเฉลี่ยของผู้หญิงวัยนี้จะอยู่ที่ประมาณ 50 ปี
อย่างไรก็ตาม ในบางกรณีภาวะหมดประจำเดือนอาจเกิดได้ก่อนจากการรักษาโรคบางชนิดที่ต้องให้ยา ให้เคมีบำบัด ผ่าตัดมดลูกหรือรังไข่ออกไป เช่น โรคช็อกโกแลตซีสต์ เนื้องอกในมดลูก ถุงน้ำรังไข่ เป็นต้น
อาการทั่วไปของสตรีวัยหมดประจำเดือน
แม้ผู้หญิงทุกคนต้องผ่านวัยหมดประจำเดือน แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะเผชิญกับอาการไม่พึงประสงค์ อาการเหล่านี้อาจเกิดขึ้นได้ทั้งทางร่างกาย จิตใจและการเข้าสังคม อาทิ อาการทางด้านร่างกาย เช่น กระดูกบางและเปราะง่าย ผิวพรรณแห้งขาดความเต่งตึง เส้นผมหยาบแห้งและบางลง อ้วนลงพุง ช่องคลอดแห้ง เจ็บปวดระคายเคืองระหว่างมีเพศสัมพันธุ์ มดลูกและช่องคลอดหย่อนยาน ปัสสาวะบ่อยหรือกลั้นไม่อยู่ ร้อนวูบวาบ เหงื่อออกชุ่มโชก นอนไม่หลับ เป็นต้น อาการทางด้านจิตใจ เช่น ซึมเศร้าหงุดหงิดง่าย โกรธง่าย ใจน้อย สมาธิสั้นหลงลืมง่าย ขาดความมั่นใจจากสภาพร่างกายที่เปลี่ยนไปทำให้ไม่อยากเข้าสังคม
วิธีที่ดีที่สุดในการดูแลสุขภาพผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน คือ ผู้หญิงต้องเตรียมตัวเองให้พร้อมตั้งแต่อายุ 40 ปี ไม่ว่าจะเป็นการรับประทานอาหาร การนอนการออกกำลังกาย การฝึกจิตให้คิดในแง่บวก หรือตรวจสุขภาพตามกำหนดเพื่อลดอาการที่อาจเกิดขึ้นในช่วงอายุ 45 ปีโดยเฉลี่ย ส่วนผู้ที่มีอาการมากจนรบกวนการดำเนินชีวิตประจำวันนั้น ควรมาพบแพทย์เพื่อตรวจประเมินเบื้องต้น ได้แก่การซักประวัติ ตรวจร่างกายและตรวจทางห้องปฏิบัติการที่เกี่ยวข้อง หากพบว่าสาเหตุเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนเพศ แพทย์จะให้คำปรึกษาและรักษาอาการตามความจำเป็นและเหมาะสมเป็นรายๆ ไป วัยทองไม่ใช่โรค ดังนั้นหลักการคือ ดูแลตามความพึงพอใจของแต่ละบุคคล ไม่มีอะไรดีที่สุด แต่เราจะอธิบายว่าอะไรที่เหมาะกับคุณที่สุดการดูแลรักษา
ลดอาการด้วยฮอร์โมนทดแทน สำหรับในรายที่มีข้อบ่งชี้ เช่น กระดูกบาง ร้อนวูบวาบ นอนไม่หลับ หรือช่องคลอดแห้ง แพทย์อาจพิจารณาให้ฮอร์โมนทดแทนเพื่อบรรเทาอาการ ฮอร์โมนที่ให้คือ ฮอร์โมนเพศหญิงชนิดสกัดจากธรรมชาติ (bio-identical hormone) ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่มีโครงสร้างเหมือนฮอร์โมนในร่างกายมนุษย์ แต่สกัดจากพืชพันธุ์ธรรมชาติไม่ใช่การสังเคราะห์ขึ้น โดยจะให้ในปริมาณน้อยที่สุดเท่าที่จะออกฤทธิ์
ทั้งนี้ การพิจารณาให้ฮอร์โมนทดแทนนั้นมีข้อยกเว้นคือ ผู้ที่มีเนื้องอกหรือเป็นมะเร็งบางชนิด มีประวัติบุคคลในครอบครัวเป็นมะเร็งที่เกี่ยวกับฮอร์โมน เช่น มะเร็งเต้านม มะเร็งรังไข่ มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก ผู้ที่สูบบุหรี่ มีประวัติเลือดอุดตัน และเป็นโรคตับเรื้อรัง เป็นต้น ปัจจุบัน ฮอร์โมนทดแทนมีหลายรูปแบบให้เลือกใช้ตามสะดวก เช่น ชนิดรับประทาน ชนิดเจลทาบริเวณหน้าท้องหรือหน้าขา ชนิดสอดช่องคลอด ชนิดแผ่นแปะ และชนิดห่วง
ฮอร์โมนมีผลข้างเคียงหรือไม่
หลายคนอาจสงสัยว่าฮอร์โมนทดแทนนั้นมีผลข้างเคียงหรือไม่ ในอดีตฮอร์โมนที่ให้เป็นฮอร์โมนสังเคราะห์ประกอบกับแพทย์ยังไม่มีความรู้ความเข้าใจมากพอว่าควรจะให้แบบใด ส่วนใหญ่จึงเป็นการให้แบบเหมารวม ผู้หญิงแต่ละคนจะตอบสนองต่อระดับของฮอร์โมนทดแทนไม่เท่ากันจึงอาจทำให้มีปัญหาเรื่องผลข้างเคียงได้ แต่ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมาได้มีการศึกษาวิจัยและพัฒนารูปแบบการให้ฮอร์โมนไปมากแล้ว ปัจจุบันเราให้โดยพิจารณาตามอาการและสภาพร่างกายของผู้หญิงแต่ละคน เพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุดและเกิดอาการข้างเคียงน้อยที่สุด
สารอาหารจากธรรมชาติก็ช่วยได้
สำหรับผู้หญิงที่ไม่สามารถรับฮอร์โมนทดแทนได้นั้น มีทางเลือกคือการใช้สารอาหารตามธรรมชาติ หรือ phytoestrogens ซึ่งเป็นสารที่มีโครงสร้างและคุณสมบัติใกล้เคียงกับฮอร์โมนเอสโตรเจนแต่พบในพืชหลายชนิด เช่น ถั่วเหลือง ชะเอม แบล็คโคฮอช และเรดโคลฟเวอร์ เป็นต้น สมุนไพรเหล่านี้มีความปลอดภัย แต่จะช่วยให้อาการวัยทองดีขึ้นมากน้อยแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับแต่ละคน ทั้งนี้ ฮอร์โมนทดแทนและสารอาหารจากธรรมชาติสามารถใช้เสริมกันได้ตามความพึงพอใจโดยไม่มีข้อห้ามแต่อย่างใด
เติมเต็มด้วยจุลสารอาหาร
นอกจากนี้แล้ว การดูแลสุขภาพผู้หญิงวัยทองยังสามารถทำได้โดยการเสริมวิตามินและแร่ธาตุที่จำเป็น เช่น แคลเซียม วิตามินดี แมกนีเซียมและโฟลิก เป็นต้น โดยผู้หญิงควรเข้ารับการตรวจเช็คระดับและทดสอบสารอาหารในร่างกายก่อน เพื่อให้ทราบว่าร่างกายขาดวิตามินและแร่ธาตุอะไรและมากน้อยแค่ไหน ก่อนจะซื้อผลิตภัณฑ์เสริมอาหารมารับประทาน ในเบื้องต้นควรได้รับคำแนะนำจากแพทย์ก่อน ซึ่งแพทย์อาจแนะนำจุลสารอาหารหรือ micro-nutrient supplement ที่ปรุงขึ้นเฉพาะบุคคลเพื่อให้มั่นใจว่าคุณได้รับสาร อาหารที่มีคุณภาพ ครบถ้วนและเพียงพอกับร่างกายก้าวข้าม menopause
“ปัจจุบันวิทยาการทางการแพทย์ด้านการดูแลผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน ได้ก้าวข้ามการดูแลเพื่อลดอาการไปสู่การปรับสมดุลของฮอร์โมนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมดูแลสุขภาพเพื่อการมีอายุที่ยืนยาว ซึ่งทำได้โดยการผสมผสานหลายๆ วิธีการเข้าด้วยกัน ร่างกายคนเรามีฮอร์โมนหลายชนิดที่ทำงานร่วมกัน ซึ่งถ้าเราสามารถทำให้ทุกตัวเกิดความสมดุล ไม่ว่าจะโดยการปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ การใช้ฮอร์โมนทดแทนและสารอาหารตามธรรมชาติอย่างพอเหมาะ รวมถึงการดูแลไม่ให้ร่างกายพร่องวิตามินและแร่ธาตุที่จำเป็น ซึ่งเป็นการดูแลแบบองค์รวม ก็จะทำให้ร่างกายคงสภาพความเป็นหนุ่มเป็นสาวได้ยืนยาวขึ้น การเตรียมพร้อมแต่เนิ่นๆ และรู้จักจัดการกับอาการต่างๆ จะช่วยให้ผู้หญิงผ่านช่วงวัยนี้ไปได้อย่างราบรื่นและมีความสุข”
ดูแลไลฟ์สไตล์ คือดูแลวัยทอง
การดูแลสุขภาพในช่วงเวลาประมาณ 10 ปีของวัยหมดประจำเดือนนั้นส่งผลต่อคุณภาพชีวิตต่อไปในวัยสูงอายุ ดังนั้น ผู้หญิงจึงควรดูแลตัวเองอย่างจริงจัง ส่วนจะดูแลอย่างไรนั้น แพทย์แนะนำดังต่อไปนี้
- การรับประทานอาหาร ควรเน้นอาหารที่มีแคลเซียมสูง เช่น นมและผลิตภัณฑ์จากนม โดยเลือกชนิดไขมันต่ำหรือปราศจากไขมัน ปลาตัวเล็กตัวน้อยที่รับประทานพร้อมกระดูก ผัก เช่น บรอกโคลี ใบยอ รวมถึงผลไม้และธัญพืชต่างๆ และดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 1-2 ลิตร หากจำเป็นต้องรับประทานแคลเซียมเสริม ควรให้ได้วันละ 1,000 มิลลิกรัม
- การออกกำลังกาย ควรออกกำลังกายอย่างน้อยสัปดาห์ละ 120 นาทีหรือวันละ 30 นาทีต่อเนื่องกันสัปดาห์ละ 4 วันเพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงของกระดูกและกระตุ้นการสร้างฮอร์โมนการเจริญเติบโตหรือ growth hormone โดยออกกำลังกายในระดับความหนักปานกลาง เช่น เดิน เต้นรำ ว่ายน้ำ
- นอนหลับอย่างมีคุณภาพ การนอนหลับเป็นรากฐานของการมีสุขภาพดี ควรเข้านอนตรงเวลาทุกวันและหลับให้สนิทก่อนเที่ยงคืน หากมีอาการนอนไม่หลับ ควรออกกำลังกายให้มากขึ้นโดยหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายก่อนนอนถ้ายังไม่ดีขึ้น อาจรับประทานฮอร์โมนเมลาโทนินร่วมด้วย
- ตรวจสุขภาพเมื่อถึงวัย ควรเข้ารับการตรวจสุขภาพเมื่อถึงวัย 40 ปีโดยเฉพาะผู้ที่มีประจำเดือนไม่สม่ำเสมอหรือมาน้อยหากตรวจแล้วปกติดีก็ไม่จำเป็นต้องตรวจดูระดับของฮอร์โมน แต่หลังจากอายุ 45 ปีไปแล้ว แนะนำว่าควรตรวจฮอร์โมนร่วมด้วย
- หมั่นสังเกตตัวเอง ควรจดบันทึกประจำเดือนทุกเดือนว่ามาวันที่เท่าไร มากี่วัน และมามากน้อยแค่ไหน เพื่อให้ทราบได้โดยง่ายเมื่อมีความเปลี่ยนแปลงหรือผิดปกติเกิดขึ้น
- ทำจิตใจให้สบาย ฝึกจิตให้สงบ พยายามอย่าเครียดเพราะจะส่งผลเสียทั้งต่อตัวเองและผู้คนรอบข้าง
ที่มาของข้อมูล : ผศ.นพ.พันธ์ศักดิ์ ศุกระฤกษ์ สูตินรีแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านฮอร์โมนต่อมไร้ท่อและการเจริญพันธุ์ ได้ให้ความรู้ถึงแนวทางการดูแลสุขภาพทั้งกายและใจ เพื่อห่างไกลโรค ในเวทีเสวนา สุขกาย สุขใจ เมื่อเข้าสู่วัยทอง ภายในงาน มติชน เฮลท์แคร์…ดูแลสุขภาพ เมื่อวันที่ 17 ก.ค.